เลนส์ G Master รุ่นล่าสุด: 12-24 มม. F2.8 GM
Albert Dros และ Michael Schaake
Sony ได้เปิดตัวเลนส์ G Master FE 12-24 มม. F2.8 ซึ่งเป็นเลนส์ซูมมุมกว้างที่สุดในโลกที่มีรูรับแสง F2.8* เพื่อขยายตัวเลือกเลนส์ G Master รุ่นใหม่ ๆ อย่างต่อเนื่อง
การออกแบบโฉมใหม่นี้มาพร้อมกับชิ้นเลนส์ XA (Extreme Aspherical) 3 ส่วนเพื่อความคมชัดที่เหนือชั้น ร่วมกับชิ้นเลนส์ Super ED และกระจก ED 3 ชิ้นเพื่อส่งมอบความคมชัดระดับสูงในทุกแง่มุมและฉากหลังโบเก้อันงดงาม มอเตอร์เชิงเส้น XD (Extreme Dynamic) 4 ตัวช่วยให้ได้โฟกัสที่รวดเร็วขึ้น และแม่นยำกว่าเลนส์แบบดั้งเดิมสำหรับการถ่ายภาพและวิดีโอ
Michael Schaake และ Albert Dros ช่างภาพสายทิวทัศน์ที่ได้รับรางวัลและตัวแทนช่างภาพของ Sony ใจดีลองใช้งานเลนส์ก่อนการเปิดตัว และแบ่งปันความคิดเห็นกับเรา
Albert Dros
สภาพแวดล้อมต่าง ๆ ในประเทศเนเธอร์แลนด์มีความพิเศษอย่างมาก ซึ่งช่วยให้ผมสามารถลองใช้งานเลนส์ในสภาพแวดล้อมและสถานการณ์ต่าง ๆ มากมาย เพียงแค่คว้ากล้อง Alpha 7R IV คู่ใจของผมและออกไปสำรวจเท่านั้นเอง
ผมเริ่มต้นถ่ายภาพในย่านที่งดงามของกรุงอัมสเตอร์ดัม ซึ่งเต็มไปด้วยความว่างเปล่าและร้านค้าที่ปิดตัวลงอันเนื่องมาจากโควิด-19 และนี่เป็นตัวอย่างที่ยอดเยี่ยมในการแสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพของเลนส์ 12 มม. ซึ่งมาพร้อมกับความคมชัดที่น่าทึ่ง โดยเฉพาะในบริเวณขอบ
ผมได้ไปเยี่ยมชมศาลากลางอันงดงามในเมือง Nieuwegein ซึ่งเป็นอาคารที่ดูทันสมัยมากทั้งภายในและภายนอก และผมก็คิดได้ว่าอาคารแห่งนี้น่าจะเป็นโมเดลที่สมบูรณ์แบบสำหรับภาพมุมกว้างแน่ ๆ แต่ผมก็ได้พบคุณสมบัติหนึ่งบน Alpha 7R IV ที่มีประโยชน์ในสถานการณ์เหล่านี้ ซึ่งก็คือหน้าจอที่พลิกหมุนได้ เพราะบางครั้งผมก็มักจะเดินไปรอบ ๆ พร้อมกับมองไปที่หน้าจอ เล็ง และหมุนกล้องจนกระทั่งผมเห็นองค์ประกอบภาพที่ผมชื่นชอบ
หลังจากที่ผมได้ยินข่าวพยากรณ์ว่าพายุจะเข้า ผมได้มุ่งหน้าออกไปยังเขตชนบท โดยหวังที่จะถ่ายภาพท้องฟ้าที่น่าทึ่ง สำหรับภาพถ่ายกังหันลมนี้ ผมได้ยกกล้องขึ้นมาถ่ายภาพพาโนรามาอย่างรวดเร็ว โดยเมฆพายุที่กำลังพวยพุ่งเข้ามาส่องสะท้อนในแม่น้ำเล็ก ๆ ด้านหน้าอย่างพอดิบพอดี สิ่งที่ผมชอบมากที่สุดในภาพถ่ายนี้ก็คือ เอฟเฟกต์พาโนรามาได้ทำให้ภาพนี้ดูคล้ายคลึงกับมุมมองตาปลาอย่างมาก
หลังจากที่พายุได้ผ่านพ้นไป ผมก็สามารถที่จะเก็บภาพทุ่งดอกป๊อปปี้ ในขณะที่ดวงอาทิตย์กำลังลับขอบฟ้าได้
เรายังมีช่วงเวลายามเช้าที่สวยงามอีกด้วย โดยผมได้ตื่นเวลาตี 3 และมุ่งหน้าเข้าไปในป่า ซึ่งเป็นหนึ่งในสถานที่ถ่ายภาพสุดโปรดของผม โดยผมมักจะใช้เลนส์ที่ยาวกว่าในสถานการณ์เหล่านี้ แต่ผมอยากที่จะลองใช้เลนส์ 12-24 มม. ดู และการบังคับตัวเองให้มาใช้เลนส์ดังกล่าวนั้นก็ช่วยให้ผมได้รับผลลัพธ์ที่น่าสนใจมาก
ผมมักจะใช้เทคนิคที่เรียกว่า "การซ้อนโฟกัส" เป็นครั้งคราว ซึ่งเป็นการที่ผมจะเข้าไปใกล้วัตถุมาก ๆ และใช้ภาพหลาย ๆ ภาพด้วยจุดโฟกัสที่แตกต่างกันเพื่อให้ได้ภาพทั้งหมดโดยโฟกัสจากด้านหน้าไปยังด้านหลัง ภาพนี้เกิดขึ้นจากการรวมภาพ 3 ภาพที่ถ่ายด้วยรูรับแสง F22 ซึ่งทำให้ผมได้ภาพที่คมชัดตลอดทั้งเฟรมได้
สุดท้ายแต่ยังไม่ท้ายสุด ผมสามารถถ่ายภาพทิวทัศน์ดวงดาวได้ด้วย โดยทั่วไปแล้ว การถ่ายภาพทางช้างเผือกในประเทศเนเธอร์แลนด์ในทุกวันนี้เป็นเรื่องที่แทบจะเป็นไปไม่ได้เลย เพราะว่ามีมลพิษทางแสงมากมายอยู่ทุกที่ แต่มีสถานที่บางแห่งที่มีมลพิษทางแสงค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับสถานที่อื่น ๆ ในประเทศ
อย่างไรก็ตาม ความท้าทายที่ยิ่งใหญ่ที่สุดก็คือ ผมเลือกที่จะถ่ายภาพในวันที่มีช่วงกลางวันยาวที่สุดของปี ซึ่งไม่มีช่วงที่มืดสนิทเลย!
ภาพนี้ถ่ายด้วยรูรับแสงที่เปิดกว้าง F2.8 และผมรู้สึกประทับใจเป็นพิเศษกับความคมชัดของดวงดาว สิ่งหนึ่งที่น่าสนใจก็คือ จุดสีส้มแดงที่ส่องสว่างอยู่บนขอบฟ้านั้นไม่ใช่แสงจากดวงอาทิตย์ แต่เป็นมลภาวะทางแสงที่มาจากในเมือง
ต่อไปนี้คือความคิดเห็นของผมโดยสรุป:
• ผมชื่นชอบเลนส์ 12-24 มม. F4 G มาก แต่การมีรูรับแสงเพิ่มเติมก็ช่วยสร้างความแตกต่างได้อย่างมากเช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการถ่ายภาพดวงดาว
• ภาพมีการบิดเบือนน้อยมาก แม้ในขณะที่ใช้งานเลนส์ 12 มม. และผมไม่ได้ใช้การแก้อาการบิดเบี้ยวใด ๆ บนภาพเลย และก็ไม่มีให้ใช้งานด้วย!
• น้ำหนักเบาและกะทัดรัดเมื่อเทียบกับความยาวโฟกัสและรูรับแสงที่ได้
• ถ่ายภาพดวงอาทิตย์และดวงดาวได้ยอดเยี่ยม
Michael Schaake
ผมมีโอกาสได้ลองใช้เลนส์ G Master 12-24 มม. F2.8 โฉมใหม่เป็นเวลาสองสามวัน และผมก็รู้สึกติดใจกับคุณภาพที่ยอดเยี่ยมของงานฝีมือชิ้นนี้ในทันที ด้วยน้ำหนักเพียง 847 กรัม ซึ่งก็ไม่ได้ถือว่าเบาเกินไป แต่มีความสมดุลอย่างพอเหมาะบนมือเมื่อใส่เข้ากับ Alpha 7R IV อีกทั้งยังมาพร้อมกับตัวเลนส์โค้งด้านหน้าขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นสิ่งที่ผมไม่เคยคาดคิดเลย!
ตัวเลนส์ขนาดใหญ่ที่อยู่ด้านหน้าทำให้ใช้งานตัวกรองได้ยาก (แม้ว่าจะมีตัวเลือกให้ใช้ตัวกรองที่ทำมาจากเจลาตินด้านหลังก็ตาม) แต่ว่าผมก็ไม่เห็นแสงแฟลร์และแสงหลอกเลย ซึ่งบ่งชี้ให้เห็นถึงคุณภาพของการเคลือบรูปแบบใหม่ที่ Sony ได้ออกแบบมาสำหรับเลนส์นี้โดยเฉพาะ
ภาพนี้แสดงฉากที่ดูมีความแตกต่างกันมาก ซึ่งเป็นภาพที่ถ่ายดวงอาทิตย์โดยตรง และสามารถมองเห็นดวงอาทิตย์เล็ก ๆ ในน้ำได้ และไม่มีแสงแฟลร์ในภาพเลย
ผมใช้รูรับแสงที่แตกต่างกันในการถ่ายรูปตั้งแต่ F2.8 ไปจนถึง F22 และผมสังเกตเห็นความคมชัดที่ลดลงเพียงเล็กน้อย ขณะที่ใช้งานรูรับแสงที่มีขนาด F18 เป็นต้นไป ซึ่งก็เป็นไปอย่างที่ผมคาดไว้ รูรับแสง F2.8 ที่เปิดกว้างมาพร้อมกับความคมชัดอย่างมาก และผมก็ไม่รู้สึกลังเลเลยที่จะใช้ขนาดรูรับแสงนี้เพื่อการถ่ายภาพในสภาวะแสงน้อย
ในภาพนี้ ผมอยากจะใช้เทคนิค Long Exposure (เปิดความเร็วชัตเตอร์ค้างไว้เป็นเวลานาน) เพื่อทำให้สายน้ำดูนุ่มนวลยิ่งขึ้น และเนื่องจากผมไม่สามารถใช้ตัวกรอง ND ได้ ผมจึงจำเป็นต้องถ่ายภาพโดยใช้ F22 (ซึ่งปกติผมพยายามหลีกเลี่ยงที่จะไม่ใช้) แต่ก็ยังคงได้ความคมชัดที่ยอดเยี่ยมอยู่
เลนส์หลักที่ผมใช้สำหรับถ่ายภาพทิวทัศน์คือเลนส์ FE 16-35 มม. F4 ZA OSS ซึ่งผมชื่นชอบเลนส์นี้มาก แต่การมีความยาวโฟกัสมุมกว้างขึ้นก็มอบมุมมองใหม่ ๆ ให้ผมได้เพลิดเพลินเช่นกัน
โดยรวมแล้ว ผมรู้สึกประทับใจเลนส์นี้อย่างมาก อีกทั้งยังมีช่วงความยาวโฟกัสที่ช่วยจุดประกายความคิดสร้างสรรค์ในฉากที่ผมถ่ายภาพด้วย
*เปรียบเทียบกับเลนส์ซูม F2.8 แบบถอดเปลี่ยนได้สำหรับกล้องดิจิทัลแบบฟูลเฟรม ณ เดือนกรกฎาคม 2020
บทความนี้เผยแพร่ครั้งแรกใน https://www.sony.co.uk/alphauniverse
ผลิตภัณฑ์เด่น